เส้นทางสู่อาชีพครู (ตอนที่ 1 การเตรียมความพร้อมสู่มหาวิทยาลัย)

ครู” เป็นผู้ประกอบวิชาชีพหนึ่งที่นิยมเรียกว่า “แม่พิมพ์ของชาติ” หลายต่อหลายคนใฝ่ฝันที่จะประกอบอาชีพนี้ โดยเฉพาะเป็นข้าราชการครูในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นส่วนมาก และมีข้าราชการครูในสังกัดหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย (ครูโรงเรียนเทศบาล ครูองค์การบริหารส่วนจังหวัด) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ครู ต.ช.ด). ครูสังกัดกรุงเทพมหานคร-เมืองพัทยา เป็นต้น

นักเรียนมัยมศึกษาตอนปลายหลายคนมีความมุ่งมั่นและใฝ่ฝันที่จะประอาชีพครู เนื่องจากรับรู้ว่าเป็นอาชีพรับราชการที่มีความมั่นคงและมีเกียรติอย่างมากอาชีพหนึ่งในสังคม รวมทั้งเป็นจิตอาสาในการถ่ายทอด อบรม และสั่งสอนความรู้ต่างๆ ให้แก่เด็กและเยาวชนให้ได้เหมือนกับหรือดีกว่าครูที่สอนตนเองมา ในการคัดเลือกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นจะมีระบบการคัดเลือกหลายระบบ ได้แก่ ยื่นแฟ้มสะสมงาน โควต้า (ตามภาค โครงการพิเศษ บุตรของบิดามารดาที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับสาขาวิชาที่จะสมัคร บุตรของบิดามารดาผู้เสียสละในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ฯ) ผู้มีความสามารถพิเศษ (ด้านกีฬา ศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ ฯ) ผู้มีความเป็นเลิศด้านวิชาการ (แข่งขันระดับประเทศ นานาชาติ) รับตรง/สอบตรง และสอบผ่านระบบคัดเลือกกลาง ซึ่งจะเริ่มรับสมัครในระบบยื่นแฟ้มสะสมงานเป็นอันดับแรกในเดือนกันยายน (ติดตามประกาศรับสมัครได้ทางเว็บไซต์ต่างๆ) หากเป็นสมัยก่อนเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาเป็นการสอบเข้ามหาวิทยาลัยครั้งเดียวและเลือกคณะ 5 อันดับ ปัจจุบันเปิดโอกาสให้เลือกได้ถึง 10 อันดับ ถ้าเตรียมอ่านหนังสือและทำโจทย์อย่างหนักจะมีโอกาสสูงในการสอบติดคณะ สาขาวิชา และมหาวิทยาลัยที่เลือกไว้ แต่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงระบบการรับสมัครเข้ามหาวิทยาลัยในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะรูปแบบที่จะช่วยให้นักเรียนมีโอกาสสูงได้รับคัดเลือกโดยการยื่นแฟ้มสะสมงานแล้วคัดเลือกสอบสัมภาษณ์ ยื่นแฟ้มสะสมงานแล้วคัดเลือกเข้าสอบคัดกรองเบื้องต้น และสอบสัมภาษณ์ มีพัฒนาการสอบ Admission จนถึงระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (Thai University Central Admission System: TCAS) ใช้คะแนนสอบ เลือกคณะ และเข้าสอบสัมภาษณ์

ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงการเตรียมของน้องๆ ว่าความทำอย่างไร และเล่าถึงรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จในสอบเข้ามหาวิทยาลัย ดังนี้

  • ประเมินความสามารถ ความถนัด และความชอบของตนเอง
    นักเรียนต้องรู้แล้วว่าตนเองมีความถนัดและความชอบในสาขาวิชาใดที่โดดเด่นเป็นพิเศษ เพื่อให้นักเรียนสามารถเลือกเรียนสาขาที่ตรงกับความถนัดและความชอบของตนเองในระดับมหาวิทยาลัย มีความเชื่อมั่นในเบื้องต้นว่าถ้าเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วสำเร็จการศึกษาออกมาประกอบอาชีพครูได้ ไม่ใช่เรียนไปเครียดไปเบื่อไป บ่นจะลาออกไม่เรียนแล้วสามเวลาหลังอาหาร !!! เพราะตนเองไม่ถนัดและไม่ชอบแต่ถูกบังคับให้เรียนสายครู พอจบออกมานอนอยู่บ้านเฉยๆ หรือไม่ก็เปิดร้านขายกาแฟ ขายสินค้าออนไลน์ ฯ อย่างนี้เรียกได้ว่า “เรียนไปเสียของ” บางคนอยากเป็นครูสอนคณิตศาสตร์เนื่องจากจากไม่ชอบทำงานในห้องปฏิบัติการ ไม่ชอบใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ แต่คะแนนสอบวิชาคณิตศาสตร์อยู่ในระดับพอใช้ นักเรียนสามารถเรียนเสริม ฝึกคิด และฝึกทำโจทย์คณิตศาสตร์ในระดับมัธยม แล้วกลับมาประเมินตัวเองว่ายังจะมุ่งในเส้นทางวิชาคณิตศาสตร์ได้ดีไหม ถ้าเห็นว่าพอต่อได้และรู้สึกสนุกกับการเรียนคณิตศาสตร์ สามารถเลือกเรียนสาขานี้ได้ แต่ถ้ารู้สึกไม่ไหวและเครียดทุกครั้งที่ทำโจทย์คณิตศาตสร์ ต้องเปลี่ยนเส้นทางไปหาสาขาวิชาอื่นๆ เช่น สังคมศึกษา คอมพิมเตอร์ ภาษาอังกฤษ เป็นต้น หมั่นหาแรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ที่กำลังเรียนในมหาวิทยาลัย รุ่นพี่ที่สำเร็จการศึกษาหรือทำงานแล้ว รวมทั้งปรึกษาครูแนะแนวของโรงเรียน หากมีโอกาสจงพูดคุยกับคุณครูที่สอนในวิชาต่างๆ แต่ไม่ควรถามว่า “หนูควรเรียนต่อมหาวิทยาลัยสาขาวิชาอะไร” เป็นการแสดงให้เห็นว่านักเรียนยังไม่ค้นพบตัวเอง แต่ควรถามว่า “ถ้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยสาขาวิชา………. เรียนเป็นอย่างไร ยากไหมค่ะ” อาจจะลองทำแบบทดสอบค้นหาตนเองได้ที่ ez.eduzones.com เพื่อให้รู้เบื้องต้นว่าตนเองถนัดและชอบด้านไหนเพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกเรียนในระดับมหาวิทยาลัยไปจนถึงเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะประกอบอาชีพด้านไหน รีบทำตั้งแต่บัดนี้
  • ศึกษาข้อมูลสายอาชีพครูก่อนการตัดสินใจ
    ช่วงนี้มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งผลิตบัณฑิตสายครูสำเร็จการศึกษาออกมาจำนวนมาก รวมกับบัณฑิตสายอื่นที่มีสิทธิ์สมัครสอบครู บัณฑิตสายครูที่ว่างงาน/ทำงานอื่นที่ไม่ใช่ครู และครูประจำการที่สอบเพื่อขอย้ายแล้วมีหลายหมื่นคน จึงมีจำนวนคู่แข่งในการสมัครสอบเข้ารับราชการครูจำนวนมาก ในขณะที่ทั่วประเทศมีอัตราครูว่างที่รอบรรจุครูใหม่ทดแทนเพียงหลักพันเท่านั้น พบว่าบางสนามสอบมีสัดส่วนการรับครูใหม่ถึง 1 : 100 และการเปิดสอบครูไม่ได้เปิดสอบทุกปีหรือทุกพื้นที่ ผู้ที่สอบผ่านจะได้รับการขึ้นบัญชีไว้เป็นเวลา 2 ปี แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยจะไม่มีการเปิดสอบครูในช่วงเวลา 2 ปี และในช่วงเวลา 2 ปีนี้จะมีบัณฑิตสายครูและไม่ใช่สายครูที่มีสิทธิ์สมัครสอบครูสำเร็จการศึกษาออกมาอีกเท่าไร ? เมื่อก่อนบัณฑิตสายครูสาขาวิชาที่ล่ำลือกันว่าเรียนยาก คือ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และคอมพิวเตอร์มีจำนวนไม่มาก แต่จากกผลการสอบครูล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 พบว่าไม่ใช่แล้ว สาขาวิชาดังกล่าวมีผู้สมัครหลักร้อย (บางสนามสอบเกือบ 300 คน) แต่รับได้เพียงหลักสิบ แม้แต่สาขาวิชาภาษาจีนซึ่งเมื่อก่อนมีผู้สมัครไม่ถึงห้าคน แต่ล่าสุดมีจำนวนผู้สมัครหลักร้อยแต่รับได้เพียงหลักสิบเช่นเดียวกัน ส่วนสาขาวิชาที่ยังมีผู้สมัครจำนวนน้อย คือ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ดนตรี นาฏศิลป์ เกษตร-สิ่งแวดล้อม และการศึกษาพิเศษ แต่มีอัตราครูในสาขาวิชาเหล่านี้ว่างน้อยเพียง 1 – 3 อัตราในแต่ละพื้นที่เท่านั้น จากข้อมูลพบว่าในแต่ละปีมีครูเกษียณอายุราชการประมาณหมื่นคน แต่ครูทั้งหมดนี้จะยังไม่ได้รับการพิจาณาเปิดสอบทดแทนอัตราว่างทุกตำแห่งในปีที่เกษียณอายุราชการทันที อาจต้องรอการอนุมัติ 1 – 3 ปี มีบัณฑิตสายครูและบัณฑิตไม่ใช่สายครูที่มีสิทธิ์สมัครสอบครูประมาณหนึ่งแสนคน ดังนั้นสัดส่วนการรับครูบรรจุใหม่อยู่ที่ประมาณ  1 : 10 จนถึง 1 : 15 ดังนั้น บัณฑิตครูจะต้องมีคุณภาพจริงๆ จึงจะสามารถแซงบรรดาคู่แข่งได้ อีกอย่างคือ เด็กไทยมีอัตราการเกิดน้อยลงทำให้มีจำนวนนักเรียนลดลง จึงมีแนวโน้มว่าจะมีการยุบโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น ผลที่ตามมาคือ มีแนวโน้มที่จะลดอัตราครูในบางพื้นที่ ในประเด็นนี้ก็ควรนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจเลือกเรียนสายครูด้วย ต้องดูข้อมูลการรับสมัครและผลการสอบครูจากเว็บไซต์ต่างๆ จะรู้ข้อมูลว่าครูสาขาวิชาใดที่มีคนสมัครมาก (คาดคะเนได้ว่ามีบัณฑิตสายครูจำนวนมาก) หรือคนสมัครน้อย (คาดคะเนได้ว่ามีบัณฑิตสายครูจำนวนน้อย) ถ้าพิจารณาแล้วคงไม่ไหวก็เลือกเรียนต่อสาขาอื่นเถอะ..???..!!!..
  • ตัดสินใจแน่วแน่
    ตัดสินใจแน่แน่แล้วว่าจะเรียนทางครูและประกอบอาชีพครูหลังจากสำเร็จปริญญาตรี ครูถามว่า “หนูจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยด้านไหน” นักเรียนตอบบว่า “ยังไม่รู้เลยค่ะ ต้องถามพ่อถามแม่” แล้วตัวเองจะเรียนหรือพ่อแม่จะเรียน ?  พอนักเรียนขึ้นชั้น ม. 4 ทั้งตัวนักเรียน พ่อ แม่ และญาติต้องตัดสินใจเด็ดขาดเป็นครั้งสุดท้ายแล้วว่าจะเรียนมหาวิทยาลัยด้านวิชาชีพครู นักเรียนจะไม่กดดัน ไม่เครียด ไม่เบื่อ จะมีสุขภาพจิตที่ดีเนื่องจากรู้เป้าหมายการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยของตนเองแล้วและจะเลือกประกอบอาชีพครูเมื่อสำเร็จการศึกษา
  • ติดตามข่าวการรับสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย
    นักเรียนต้องติดตามข่าวการรับสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องจากเว็บไซต์ต่างๆ เช่น trueplookpanya.com, dek-d.com, mytcas.com, eduzones.com เป็นต้น เลือกให้ได้ข้อสรุปว่าจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยด้วยวิธีใด มหาวิทยาลัยต่างๆ มีการรับสมัครเข้าเรียนตั้งแต่ระดับที่มีโอกาสสูงจนถึงระดับที่มีโอกาสลดลง คือ ยืนแฟ้มสะสมงาน โควต้าผู้มีความสามารถพิเศษ (วิชาการ กีฬา ดนตรี นาฏศิลป์ ศิลปะ) โควต้าภาค สอบตรงทั่วไป ยื่นคะแนน TCAS เป็นต้น
  • เตรียมผลงานและประสบการณ์
    นักเรียนควรเตรียมผลงานที่เป็นเกียรติบัตร วุฒิบัตร และรูปทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ เก็บรวบรวมไใ้ในแฟ้มสะสมงานให้มีมากเพียงพอ รุ่นพี่ๆ หลายคนทำแบบนี้แล้วยื่นสมัครเข้ามหาวิทยาลัยหลายแห่งในรอบยื่นแฟ้มและโควต้า ได้รับความสำเร็จตามความต้องการ บางคนไม่ผ่านรอบยื่นแฟ้มสะสมงานและโควต้า แต่ผ่านรอบสอบคัดกรอง หรือยื่นคะแนน TCAS ยืนแฟ้มสะสมงานให้คณะกรรมการสอบสัมภาษณ์ย่อมได้รับการพิจารณามากกว่าคนอื่นๆ ที่แฟ้มสะสมงานไม่ดีหรือไม่มี สิ่งที่ควรจะใส่ไว้ในแฟ้มสะสมงานอาจเป็นกิจกรรม โครงการ โครงงานภายในหรือภายนอกโรงเรียนที่เกี่ยวข้อง ถ้าจะสมัครเรียนเป็นครูคอมพิวเตอร์จะต้องมีทักษะการเขียนโปรแกรมภาษาซี/ไพธอน การเขียนขั้นตอนวิธี (อัลกอริทึม) การเขียนแผนผังการทำงาน (โฟลชาร์ต) การใช้โปรแกรมชุดสำนักงาน โครงงานด้านคอมพิวเตอร์ ถ้าจะสมัครเรียนเป็นครูสอนศิลปะจะต้องมีทักษะและผลงานการวาดลายเส้น ออกแบบ โมเดล เป็นต้น รวมทั้งกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคม เช่น คัดแยกขยะ เก็บกวาดถนน-สถานที่สาธารณะ ทาสีกำแพงโรงเรียน ช่วยแจกสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัย ปลูกต้นไม้ในบริวเณบ้านตนเองและสถานที่สาธารณะ ดูแล สอนหนังสือ และช่วยเหลือในสถานนเลี้ยงเด็ก ดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุ เป็นต้น ดังนั้น ถ้าต้องการได้รับคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยจงเริ่มทำตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
  • หาความรู้เพิ่มด้วยการเรียนเสริม
    นักเรียนจะต้องมีคะแนนในสาขาวิชาที่เลือกเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยอย่างโดดเด่น เริ่มต้นด้วยการเรียนในชั้นเรียนและทำงานที่ครูมอบหมายให้เสร็จสิ้นและครบถ้วน หมั่นทบทวน ฝึกคิด และฝึกทำโจทย์อย่างสม่ำเสมอ พอมีเวลาว่างควรเรียนเสริมทางออนไลน์ที่มีทั้งไม่เสียค่าใช้จ่ายและเสียค่าใช้จ่ายบ้าง
  • รักษาสุขภาพ
    สิ่งนี้มีความสำคัญมากเนื่องจากสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจมีผลต่อการเรียน โดยเฉพาะในวันสอมคัดเลือกหรือสอบสัมภาษณ์เข้ามหาวิทยาลัย อุตส่าห์เตรียมตัวมาดีตลอดแต่มาเจ็บป่วยในวันนั้นย่อมทำเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย ถ้ามีปัญหาด้านสุขภาพต้องรีบแก้ไขและปรึกษาครูแนะแนวเป็นการด่วน หมั่นออกกำลังกายหรือทำงานอดิเรกอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรเคร่งเครียดกับการเรียนและความคาดหวังในอนาคตมากจนเกินไป เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานทางร่างกายและจิตใจ

อ่านต่อตอนที่ 2 หลักสูตรปริญญาตรีสำหรับอาชีพครู >>>

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top