มนตร์จริตเกลศมาร

ย้อนไปเมื่อตอนเป็นเด็กมักถูกผู้ใหญ่พูดขู่เสมอๆ ว่า “อย่าปีนต้นไม้ เดี๋ยวผีดึงขา” “นอนสูง นกยูงจิกหัว” “มืดค่ำแล้วอย่าออกไปวิ่งเล่น ทางหน้าบ้านมีผีกระสือ” ล้วนแต่ทำให้เด็กตัวน้อยๆ “ขวัญผวา” ตอนวิ่งเล่นหกล่ม หากแม่รีบวิ่งมาโอบอุ้ม เด็กหลายคนจะร้องเสียงดังมากขึ้น ราวกับว่าตัวเองบาดเจ็บสาหัส ที่เล่ามามันเกี่ยวข้องกับ “จิตใจ” ของคนเราค่อนมาก ในทำนองว่า “จิต” ออกคำสั่ง “กาย” ในทำโน่นทำนี้นั่นแหละ

เรื่องที่ได้รับฟังจากปากคนอื่นกระทบต่อความรู้สึกตรงๆ ในช่วงที่จิตใจยังไม่มีประสบการณ์ เกิด”อาการตกใจ อารมณ์สะเทือนใจ” เกิดขึ้นฉันใดแล้วจะเป็น “ประทับความทรงจำตลอดไปจนถึงวัยผู้ใหญ่” สภาพจิตใจที่เปลี่ยนไปมีความเกี่ยวข้องกับระบบต่อมไร้ท่อภายในร่างกายเรา เช่น ตกใจสุดขีดเพราะบ้านไฟไหม้ สามารถยกตู้เย็นขนาดใหญ่ออกมาข้างนอกได้ ตอนยกเข้าไปตั้งในบ้านต้องสองคนหาม ด้วยเหตุต่อมหมวกไตถูกกระตุ้นจึงหลั่งฮอร์โมนแอดรีนาลินเข้าสู่กระแสเลือดมากขึ้นจนทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดแรงขึ้น ขบวนการเมตาบลิซึมเปลี่ยนน้ำตาลเป็นพลังงานเพิ่มมากขึ้น จึงเกิดพลังที่คนปกติทำไม่ได้ ผู้ฝึกสอนนักกีฬามักใช้กลยุทธนี้ชักนำให้นักกีฬาของตนเองเกิดความฮึกเหิม หว่านล้อมว่าคู่ต่อสู้ว่าเราพอสู้ได้ ชี้จุดอ่อนของคู่แข่งไม่ให้ทีมเราตื่นกลัว และขณะกำลังแข่งขันเราได้ยินนักกีฬา “ตะโกนเสียงดังๆ” ก่อนส่งลูกและเมื่อแต้มได้เสมอๆ

ยายที่ต่างจังหวัดคนหนึ่ง บ่นปวดแข้งปวดขา นอนไม่หลับ พาไปหาหมอตรวจแล้วไม่เป็นอะไร แต่ยายยืนยันหนักแน่นว่าปวดขา และปวดศีรษะทำให้นอนไม่หลับ อยากให้คุณหมอจัดยาแก้ปวดและยานอนหลับให้ หมอผู้ใจดีก็พูดตามใจคุณยายแต่ให้เพียงวิตามินไปรับประทานและนัดมาพอีกหลังหนึ่งเดือนผ่านไป “คุณหมอจ๋า ยาดีจริงๆ หายปวดขาแล้ว หัวก็ไม่ปวด นอนหลับสบาย” เช่นนี้เรียกว่า “ผลกระทบพลาซีโบ (Placebo effect)” คือ “ฉันจะยินดีพอใจ (I shall pleasure) เริ่มแรกเป็นการทดลองทางการแพทย์กับกลุ่มตัวอย่างที่ให้กินยาปลอม หรือเม็ดน้ำตาลที่ทำเหมือนม็ดยาจริง พบว่าหายจากอาการป่วย ทั้งๆ ที่สารที่ให้ไม่มีฤทธิ์ทางยาใดๆ อันเป็นพลังลึกลับที่เยียวยาให้หายเจ็บป่วย (healing power) ตามที่ตนเองคาดหวังไว้ อาการเจ็บป่วยอาจมีอยู่จริง แต่ผู้ป่วยที่มีกำลังใจเข้มแข็ง มักคิดแต่สิ่งดีๆ คิดทางบวกเข้าไว้ คาดคิดเอาเองว่าตนเองดีขึ้น หายแล้ว จะเป็นพลังช่วยให้กระบวนการหายป่วยจริงๆ ด้วยการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เม็ดเลือดขาวเพียงพอในการกำจัดเชื้อโรค ภูมิต้านทานโรคเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น “ภาวะจิตสนับสนุนระบบสรีวิทยา” ที่นักวิชาการยืนยันแล้วว่าเกิดขึ้นได้จริง

เคยเห็นยายรูปร่างท้วมคนหนึ่งอายุเกือบ 75 ปี ขาอ่อนแรง เดินด้วยตนเองไม่ได้มาตั้งแต่อายุย่างเข้า 70 ปี ในปีที่หลายชายคนแรกบวช ลูกหลานเตรียมรถนั่งเข็นยายแห่รอบโบสถ์ พอเริ่มเวียนนาครอบโบสถ์ แทบไม่เชื่อสายตา แกลุกจากรถเข็นเดินเกาะชายเสื้อคนที่อุ้มผ้าไตรไปโดยไม่มีคนพยุง ไม่ใช้ไม้เถ้าด้วย จนครบ 1 รอบ จึงหมดแรงด้วยวัยชราภาพ ขอนั่งพักก่อน ช่วงที่ผู้เขียนเป็นเด็กจะต้องถูกฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ หรือฝีดาษ ซึ่งกำลังมีการระบาดในประเทศเพื่อบ้าน สมัยนั้นเรียกว่า ปลูกฝี ครูจัดนักเรียนเข้าแถวเรียงหนึ่ง ถลกแขนเสื้อข้างซ้ายไปไว้ที่หัวไหล่ ใจเต้นไม่เป็นจังหวะ รู้สึกกลัวมากเพราะใช้เข็มขนาดใหญ่น่าจะเป็นเบอร์ 18 จุ่มลงในขวดวัคซีนแล้วสะกิดปลายเข็มที่ต้นแขนให้เลือดออกซิปๆ แบบสดๆ คิดว่าต้องเจ็บตัวแน่ๆ เพราะปีก่อนหน้านี้เพื่อนเคยชวนหนีเข้าป่าหลังโรงเรียนทำให้ไม่ต้องถูกปลูกฝี แต่มาปีนี้ไม่รอด ก่อนปลูกฝีเจ้าหน้าที่อนามัยพูดด้วยความนุ่มนวลเป็นมิตรว่า “ไม่เจ็บหรอกคะ แค่มดตัวเล็กๆ กัดเท่านั้นอง” แล้วนักเรียนหัวแถวได้ยินเป็นคนแรกบอกต่อๆ กันในแถวว่าไม่เจ็บหรอก เขาฉีดค่อยๆ แค่มดกัดเองหละ พอถึงคิวเรา ตอนนั้นยังเคลิ้มไปกับคำพูดหวานนั้นอยู่ จำไม่ได้ว่าเจ็บไหม ? เจ็บตอนไหน ? ครั้นพอเจ้าหน้าที่เดินทางกลับได้สักชั่วโมง เอาแล้วได้เรื่องแล้วปวดตุ๊บๆ ที่ต้นแขนบริเวณปลูกฝี แต่พอทนได้จนถึงเวลาเลิกโรงเรียนกลับบ้าน ตกดึกสะดุ้งตื่น มีไข้ตัวร้อน ปวดร้าวมาที่รักแร้ ต้องพึ่งยาเขียวใหญ่ยาลดไข้ชั้นดีในสมัยนั้น แล้วทำไมตอนปลูกฝีจึงไม่รู้สึกเจ็บ ?

ในวงสนทนาผู้สูงอายุ “เมื่อวานไปหาหมอมา ให้ยาดีกว่าหมอที่ไปหาเมื่อเดือนก่อน ยาแรงดี กินแล้วหายเมื่อย หมอเก่าคนนั้นเลี้ยงไข้อยู่ได้” แต่พอได้ดูยาก็เป็นยาพาราเซทตามอลเหมือนกัน ยี่ห้อเดียวกัน มิลลิกรัมเท่ากัน แล้วทำไมถึงออกฤทธิ์ต่างกัน คงเป็นเพราะว่าหมอคนใหม่พูดแนะนำดีก็ได้ นี่คือตัวอย่างของพลังพลาซีโบ

ในแวดวงความเชื่อของบ้านเราที่ผู้เขียนเคยเจอในช่วงวัยเด็ก คือ ญาติข้างบ้านดื่มน้ำมนตร์แล้วอ้างว่าหายป่วยจากอาการลมชัก” ชาวพุทธและคริสต์โปแตสแตน์มีความเชื่อว่าน้ำมนตร์เป็น น้ำสิ่งศักสิทธิ์ (Holy water) ที่พระใช้เป็นสิ่งของแทนความสงบร่มเย็นให้แก่ผู้ชา ไม่มีตัวยาออกฤทธิ์ใดๆ ประกอบกับบทสวดที่มีใจความหลักๆ ว่าให้สุขภาพดี พ้นทุกข์ พ้นโศรก พ้นโรค พ้นภัย เราชาวพุทธฟังพระให้ศีลให้พรแล้วรู้สึกจิตใจสงบขึ้น เมื่อได้ดื่มน้ำมนตร์เข้าไปด้วยแล้วยิ่งเสริมความรู้สึกดีๆ ให้มากขึ้น เป็นเช่นนี้แล้วเรารู้สึกพอใจเสมือนว่าความเจ็บปวดหายไปจริงๆ ช่วงที่ผู้เขียนบวชเป็นพระจำบรรษาที่วัดประจำหมู่บ้าน สังเกตเห็นตายายกลุ่มหนึ่งมาทำบุญที่วัดเกือบทุกวัน ทั้งๆ ที่ก่อนนั้นนานๆ จะเข้าวัดอย่างว่าสุขภาพไม่คอยดี “คือว่าพวกโยมเข้าวัด เพราะกลัวตายแล้วไม่ได้ขึ้นสวรรค์” เป็นคำตอบสุดท้ายที่ได้ยิน หลังลาบวชแล้วได้ข่าวว่าตายายในกลุ่มกว่าครึ่งมาวัดทำบุญเป็นประจำอยู่ต่อได้เป็นสิบๆ ปีก่อนจะลาโลก ส่วนคนที่มาทำบุญบ้างไม่มาบ้างต้องนอนให้ลูกหลายหยอดข้าวต้มอยู่ที่บ้านรีบลาโลกไปก่อนแล้ว จะเห็นว่าคนเราที่ได้ปฏิบัติกิจวัตรตามความเชื่อนับถือบูชาส่วนบุคคลแล้วย่อมก่อให้เกิดความสงบสุขร่มเย็นแห่งจิตใจ นำมาซึ่งสุขภาพร่างกายที่ดีได้ “เป็นยาขนานเอกชั้นดีที่ไม่มีสูตรทางเคมี” สอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “จิตใจที่ดีอยู่ในร่างกายที่ดี (A sound mind in a sound body)” ชี้ชัดว่าร่างกายและจิตใจมีความสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น

ในชมชนฮินดู ประเทศอินเดีย มีความเชื่อต่อความศักดิ์สิทธิ์ของแม่น้ำคงคา การที่มีโอกาสอาบน้ำชำระร่างกาย และดื่มน้ำจากที่นี่ จะเพิ่มความเป็นศิริมงคลให้แก่ตนเองเพราะเห็นคนส่วนใหญ่ทำแบบนั้นแล้วสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ “ได้ทำตามความเชื่อของคนส่วนใหญ่แล้ว ทำให้ตัวเองรู้สึกสบายใจ” แต่เดี๋ยวนี้มีประชากรมากขึ้น ทำให้แม่น้ำสกปรกและปนเปื้อนเชื้อโรคเป็นหตุให้ในแต่ละปีมีชาวอินเดียป่วยตายด้วยโรคท้องร่วงจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขอินเดียออกมาเตือนให้ระวังโรคภัยแล้ว ไม่เห็นมีที่ท่าว่าคนจะตื่นกลัว กลับมีคนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ทางตรงข้าม เคยได้ยินคนแก่ในชนบทเดือนว่า “อย่าตากเสื้อผ้าตอนใกล้พลบค่ำ ผีจะเข้าบ้าน นำโรคร้ายมาสู่คนในบ้าน” ประกอบกับช่วงนั้นเป็นฤดูทำนา ทำงานหนัก กลับบ้านในเวลามืดค่ำ คำเตือนที่เล่าต่อๆ กันนั้นแว่วอยู่ในหูตลอดเวลาที่เห็นราวตากผ้า และก็มีคนในบ้านหลังถัดไปคนหนึ่งมีอาการตาลาย เวียนศีรษะแบบโลกหมุน สูญเสียการทรงตัว ยืนไม่ได้ ตอนนั้นผู้เขียนยังเป็นเด็กเห็นแล้วถึงกับเหงื่อออกและจดจำคำพูดของคนแก่คนนั้นพร้อมกับภาพติดตาเห็นคนที่เชื่อว่าถูกผีเข้า พอพาไปพบหมอตำบลแล้วบอกว่าไม่เป็นอะไรเลย ชีพจรและการหายใจปกติทุกอย่าง ตอนนั้นยังไม่มีเครื่องวัดความดันโลหต ให้กลับบ้านได้ เช่นนี้เรียกว่า “ผลกระทบนาซีโบ (Nocebo effect) หรือ “ฉันจะเจ็บป่วย (I shall harm) เริ่มแรกเป็นการอธิบายทางการแพทย์ นำมาใช้ครั้งแรกโดยวอลเตอร์ เคนเนดี (Walter Kennedy) เมื่อปี พ.ศ. 2504 ส่วนทางจิตวิทยาเรียกว่า “อุปทาน” เป็นอาการเจ็บป่วยที่ไม่จริง หรือความเจ็บป่วยในจินตนาการ (Imaginary illnesses) ล่อหลอกตัวเองว่าเจ็บป่วย ขอยกตัวอย่างนาซีโบ ดังนี้

มีข่าวแพร่ออกไปในภาคอีสานว่าใครกินแตงโมแล้วจะเป็นโรคจู๋ (อวัยะเพศชายไม่แข็งตัว) ที่อำเภอนั้นอำเภอนี้ ช่วงนั้นผู้เขียนกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เช้าวันหนึ่งเห็นเพื่อนคนหนึ่งใบหน้าซีดเซียว เดินเข้ามาหาใก้ลๆ แล้วกระซิบว่า “เมื่อวานตอนกลางวันเรากินแตงโมเข้าไปมาก ตกเย็นน้ามาเห็นเปลือกแตงโม บอกเราว่า นายจู๋แน่ๆ เราเลยนอนไม่หลับ ช่วยเราด้วย” พอข่าวนี้แพร่ออกไปในวงกาแฟร้านหน้าตลาด ต่างวิพากวิจารณ์และลงความเห็นว่าเชื่อว่าเป็นจริง ยังไม่มีการพิสูจน์ยืนยัน จะไม่กินแตงโมโดยเด็ดขาด แต่ต่อมาพอข่าวซาลงก็เห็นกลับไปกินแตงโมเหมือนเช่นเคย มีเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งเป็นลูกชายโทน มีอาการเป็นลม หน้ามืด พูดเพ้อ ซึ่งสัปดาห์ก่อนนั้นได้มีข่าวแพร่ถึงเรื่องผีแม่ม่ายในหมู่บ้านรอบนอกตลาด คนเฒ่าคนแก่ลงความเห็นว่าโดยผีแม่ม่ายเล่นงานเข้าแล้ว อ้างว่าจะเข้าเฉพาะบ้านที่มึลูกชาย ผีแม่ม่ายชอบหนุ่มๆ ที่ยังไม่ผ่านการแต่งงาน สัปดาห์ต่อมามีลูกชายอีก 2 บ้าน มีอาการแบบเดียวกัน พาไปตรวจร่างกายที่อนามัยแล้วปกติดีทุกอย่าง ข่าวลือนี้แพร่ไปทั่วและมีการแก้เคล็ดโดยทำหุ่นสวมผ้าถุง เสื้อคอกระเช้า ทาปากแดง เขียนป้ายติดไว้ว่า บ้านนี้ไม่มีลูกชาย เหลือเชื่อไม่มีลูกชายบ้านไหนป่วยอีกเลย จนหุ่นนั้นผุผังไปตามกาลเวลา

เพื่อนชั้นประถมชอบชวนไปเก็บลูกหว้าท้ายหมู่บ้านในที่นาของลุงที่หวงมาก ตรงทางเข้าจะมีต้นตาลหลายต้น ก้านใบแก่หลุดลุ่ยจากคอต้นตาลห้อยระโยงระยางรอลมพัดให้ขาดร่วงล่น วันหนึ่งมีข่าวเล่าว่าลุงคนนั้นเห็นผีแม่ลูกอ่อนที่คลอดลูกตาย อยู่บนต้นตาลนั้น ขณะตั้งท้องเธอชอบกินลูกหว้า ใครไปเก็บลูกหว้าต้องระวังให้ดีจะปวดท้อง เรื่องนี้แพร่งพรายไปในหมู่นักเรียนหลายคน แต่หัวหน้าก๊วนใจเด็ดไม่หวาดหวั่น พอเลิกเรียนรีบกลับบ้านเปลี่ยนชุดแล้วไปดูให้เต็มตาว่ามีจริงหรือ พอใกล้ถึงต้นตาล มีลมพัดมาโชย แว่วเสียงดังหวือๆๆ ก้านตาลโยกไปมาต่างจากทุกวัน เข้าไปใกล้อีกเสียงนั้นยังไม่หยุด สังเกตเห็นงวงตาลสีดำห้อยโตงเตงเหมือนหัวผู้หญิงผมยาวกำลังห้อยหัว ผนวกกับความรู้สึกสะเทือนใจในเรื่องราวผีแม่ลูกอ่อนยังอยู่ในความทรงจำ คราวนี่แหละทุกคนหันหลังกลับวิ่งไปไม่คิดชีวิต เช้าวันรุ่งขึ้นที่โรงเรียน หัวหน้าก๊วนสีหน้าไม่ดี บ่นปวดท้อง เล่าว่าเมื่อคืนวานกินลูกหว้าที่เหลืออยู่เข้าไป ปวดท้องทั้งคืน ตอนนี้ยังปวดอยู่ เท่านั้นเองข่าวลือกินลูกหว้าปวดท้องแพร่ออกไป มีเพื่อนอีกหลายคนกินลูกหว้าแล้วปวดท้องไปตามๆ กัน ทั้งๆ ที่เคยกินเป็นประจำและเป็นลูกหว้าที่ยังสดใหม่ ฉากสุดท้ายเด็กๆ ไม่ไปที่ต้นหว้านั้นอีกเลย เสร็จลุงเจ้าของต้นหว้า เก็บขายได้เงินหลายไปหลายบาท

เมื่อครั้งมีโอกาสพานักเรียนจากโรงเรียนมัธยมขนาดเล็กประจำอำเภอ ไปแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ระดับภาคเป็นครั้งแรก ต้องเจอกับคู่แข่งจากโรงเรียนประจำจังหวัดขนาดใหญ่ บอร์ดข้างๆ กำลังซ้อมนำเสนอผลงานด้วยเสียงดังฟังชัด คล่องแคล่ว น่าฟัง ไม่คลาดสายตาของเด็กเราที่ต่างจ้องดู หูฟังอยู่ราวสิบกว่านาที พอเขาจบเราก็ให้เด็กเราซ้อมนำเสนอจริงบ้างก่อนคณะกรรมการจะมาตรวจให้คะแนนราวห้านาทีกว่า อยู่ๆ มีเด็กนักเรียนคนหนึ่งบอกว่าปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ จะเป็นลม แล้วทรุดตัวนั่งลงกับพื้น ทั้งๆ ที่ก่อนมาแข่งได้ซ้อมที่โรงเรียนเกือบเดือนและเธอก็เป็นนักกีฬาฟุตบอลด้วย ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ จึงถามตรงๆ พอได้ความว่าก่อนเดินทางมาแข่งเพื่อนคนหนึ่งพูดว่า “เธอสู้เขาไม่ได้หรอก จะไปแข่งให้เสียเวลาทำไม ต้องยืนนำเสนอผลงานทั้งวัน เวลากินข้าวกินน้ำแถบไม่มี เดี๋ยวก็เจ็บไข้ เป็นลมเป็นแล้งหรอก ใครรับผิดชอบเธอล่ะ” เรื่องสะเทือนใจแบบนี้เองจึงอยู่ในความทรงจำของเธอ พอมาเจอสถานการณ์จริงถึงได้เป็นแบบนั้น ด้วยวิญญาณความเป็นครูจึงกระตุ้นให้กำลังใจ บอกสู้ๆ เราทำได้ ทำได้ดีกว่าเขาแน่ และก็ต้องเชื่อ พลังพลาซีโบกลับมา ผลการตัดสินได้รางวัลชนะเลิศ เป็นตัวแทนภาคไปแข่งระดับประเทศ และในที่สุดเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันนต่างประเทศด้วย

มีรายงานของหมอในต่างประเทศว่ามีคนไข้มีอาการขาอ่อนแรง ตามองไม่ชัด และเป็นลมชัก ระบุว่าความตกใจขวัญผวาเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเจ็บป่วยทางกายได้ เธอย้ำคิดย้ำทำด้วยการล้างตาตัวเองเพราะรู้สึกว่าตามองไม่เห็นเป็นฝ้ามัว ทั้งๆ ที่หมอตรวจตาแล้วไม่พบความผิดปกติใดๆ แต่เธอยืนยันว่าเธอป่วย จึงทำเช่นนั้นเพราะคิดว่าจะช่วยให้ตาสว่างขึ้นหลังตื่นนอนตอนเช้า แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ยิ่งทำให้เธอรู้สึกว่าตามืดมัวลงไปอีกทั้งๆ จักษุแพทย์ตรวจหลายครั้งไม่พบความผิดปกติ

หากพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่านาซีโบเป็นผลเสียมากกว่าผลดี กล่าวคือ เป็นผลทางลบของความเชื่อ ส่วนพลาซีโบเป็นผลทางบวกขอความเชื่อที่มีประโยชน์ (beneficial effect) นาซีโบเป็นอันตรายร้ายแรงที่อาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ดังเช่นเมื่อปี พ.ศ. 2513 นายแพทย์คลิปตัน มีโดร์ (Dr. Clipton Meador) สหรัฐอเมริกา รายงานมีผู้ป่วยรายหนึ่ง วินิจฉัยว่าเป็นเนื้องอก จะมีชีวิตอยู่ไม่นาน หลังเขาตายได้มีการผ่าซากชันสูตรศพพบว่าก้อนเนื้องอกไม่ได้แพร่ขยาย ปี พ.ศ. 2517 นายแพทย์บรูซ ลิปตัน (Dr.Bruce Lipton) รายงานการวินิจฉัยโรคที่ผิดพลาดว่าผู้ป่วยรายหนึ่งถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหลอดอาหาร ไม่มีโอกาสรอดชีวิตในที่สุดเขาตายจริงๆ สาเหตุการตายเกิดจากผู้ป่วย “มีกลัวว่าตัวเองจะต้องตายด้วยมะเร็ง ไม่ใช่ตายเพราะโรคมะเร็งลุกลาม ?

“ความกลัวสุดขีด” “มีความเชื่อความศรัทธาอย่างแรงกล้าต่ออำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติ” เกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต ต่อมใต้สมอง ต่อมไฮโปทาลามัสกับกลุ่มเซลล์ประสาทในสมองส่วนซีรีบรัมเชื่อมต่อกับต่อมไฮโปทาลามัส เรียกว่า “อะมิกดาลา (amygdala)” ซึ่งเกี่ยวข้องกับความรู้สึก อารมณ์ และความกลัว พบว่ามีผู้ป่วยบางรายตายด้วยอาการหมดสติฉับพลัน หอบหืด และหายใจติดขัด เพราะความดันโลหิตต่ำกว่าปกติ ทั้งๆ ที่ไม่มีประวัติการป่วยโรคนี้ โดยที่กระบวนการของอะมิกดาลา แบ่งเป็น 2 อย่าง คือ เส้นทางความกลัวเนื่องจากการมองเห็น (vision-to-fear-pathway) และเส้นทางความกลัวจากการได้ยิน (auditory-to-fear-pathway) การตายที่มีผลมาจากความกลัวอาจเรียกว่า “ความตายมนตร์ดำ (Voodoo death)” “…..หนุ่มใหญ่กลั้นหายใจปลิดชีพตัวเองหนีโรคร้าย……” การตายของเขาไม่ใช่สาเหตุจากโรค แต่เป็นความเชื่อส่วนตัวที่เชื่อว่าตัวเองจะต้องตายด้วยโรคนั้นๆ

มีรายงานการศึกษาของคณะวิจัยมหาวิทยาลัยฮัลล์ สหราชอาณาจักร กลุ่มทดลองที่บอกคนหนึ่งว่าในอากาศรอบตัวปนเปื้อนมลพิษที่ทำให้ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ผื่นคัน และทำให้ง่วงนอน แล้วให้บอกเพื่อนๆ ในกลุ่มทราบเรื่องนี้ พบว่าผู้หญิงครึ่งหนึ่งบอกว่ามีอาการเช่นนั้นแม้ว่าจะสูดดมอากาศที่ไม่ปนเปื้อนมลพิษ อีกงานวิจัยหนึ่งก็น่าสนใจคือ มีการศึกษากับกลุ่มคนออกกำลังกาย กลุ่มแรกมีศรัทธาความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า การออกกำลังกายจะทำให้ร่างแข็งแรง เพื่มกล้ามเนื้อ และเสริมสร้างความต้านทานต่อโรค ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าการออกกำลังกายจะทำให้บาดเจ็บ ทำให้เหนื่อยและหิวมากขึ้น ปรากฏว่ากลุ่มแรกประสบความสำเร็วมากกว่ากลุ่มที่สอง นอกจากนี้เป็นที่รู้กันดีว่าการรับประทานยาบางชนิดจะมีผลข้างเคียงแตกต่างกันไปในแต่ละคน ผลข้างเคียงเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ทั้งตัวผู้ป่วยและแพทย์รักษา แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้ป่วยบางคนต้องประสบ “…..ยานี้ทานแล้วอาจทำให้คุณยายรู้สึกมึนงง ง่วงนอน….” เปรียบเทียบกับ “…..หลังทานยานี้แล้ว คุณยายอาจจะรู้สึกมึนงง ง่วงนอนนิดหน่อยก็ให้นั่งพักสักครู่ แสดงว่ายาออกฤทธิ์เต็มที่ จะหายป่วยในเร็วๆ นี้…..” ผู้อ่านคิดว่าแบบไหนที่คุณยายน่าจะหายป่วยเร็วกว่า….!??!

นาซีโบจึงร้ายแรงกว่าพลาซีโบเพราะเป็นผลจากโรคติดต่อทางความเชื่อ แต่ผลที่เกิดทั้งสองอย่างเป็น “ความรู้สึกเจ็บป่วยที่เกิดจากจิตใจ (psychogenic)”

มีรายงานการทดลองต่ออุปกรณ์ผ่านเข้าทางศีรษะ กลุ่มที่หนึ่งบอกว่าคนหนึ่งว่า อุปกรณ์นี้จะปล่อยกระแสไฟฟ้าทำให้คุณปวดศีรษะอย่างรุนแรง แล้วให้บอกต่อๆ กันไป และกลุ่มที่สองไม่บอกอะไร โดยที่ทั้งสองกลุ่มไม่มีการปล่อยกระแสไฟฟ้าแต่อย่างใด พบว่ามีหลายคนในกลุ่มที่หนึ่งบอกว่าปวดศีรษะรุนแรงในระหว่างการทดลอง ส่วนกลุ่มที่สองบอกว่ารู้สึกเฉยๆ ยังมีการทดลองเกี่ยวกับความรู้สึกคันโดยการทาสารที่ไม่ก่อให้เกิดความคัน กลุ่มที่บอกก่อนทาว่าน้ำยานี้จะทำให้คันและบอกต่อๆ ในกลุ่มเพื่อน หลังทาน้ำยาแล้วมีหลายคนในกลุ่มนี้บอกว่ารู้สึกคันจริงๆ

บางรายมีอาการลมชักและขาไม่มีแรง พอเข้าโรงพยาบาลไปตรวจทางประสาทวิทยากลับไม่มีสิ่งบ่งบอกใดว่ามีสิ่งผิดปกติในสมอง ซึ่งทางวิชาการถือว่าปัจจัยทางด้านจิตใจไม่ได้ทำให้เกิดโรคลมชัก ตาฝ้ามัว ขาอ่อนแรง แล้วความทุกข์ทรมานจิตใจแบบไหนที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยทางกาย หรือว่ามีอาการเช่นนั้นเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้คนรอบข้าง ประเด็นนี้มีอาจารย์ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่ามีลูกกับสามีที่ต่างประเทศ ไม่ค่อยมีเวลาดูแลลู ต้องจ้างคนเลี้ยงเพราะต้องเร่งทำวิจัย พอกลับมาเมืองไทย พาลูก 3 ขวบคนนั้นไปเดินห้างใหญ่แห่งหนึ่ง ช่วงที่ผ่านตู้โชว์ของเล่นเด็ก สังเกตว่าสายตาเขาจ้องมองไปที่ของเล่นในตู้อย่างไม่กระพริบตา พอจะผ่านไปกลับหันหน้าพร้อมกับรั้งมือไว้ทำท่าจะทิ้งตัวลงพื้น เดินเลยไปได้เพียงสองก้าวเขาก็กรี๊ดเสียงดังลั่นแล้วล้มลงทำท่าชัก คนมามุงดูกันใหญ่ ทีแรกก็คิดว่าเป็นเหมือนเด็กทั่วๆ ไป ปล่อยไว้สักพักให้หยุดไปเอง เข้าไปโอ๋จะเคยตัว แต่เขามีอาการเกร็ง ชักกระตุก และตาค้างจริงๆ ต้องรีบอุ้มลูกพาออกไปทันที ในใจคิดว่าลูกคงไม่สบาย ก่อนกลับถึงบ้านจะแวะคลินิกเพื่อนหมอเด็กให้ตรวจดู พอดีที่คลินิกมีรถเด็กเล่นคล้ายๆ กับโชว์ในตู้ห้าง ลูกดีใจและขึ้นไปนั่งขับอย่างสบายใจ แปลกมากไม่น่าเชื่อ ผลการตรวจ “ลูกของเธอไม่เป็นอะไร คิดมากไปหรือเปล่า ?”

ภาวะจิตใจที่ส่งผลให้ร่างกายเสมือนว่ากำลังเจ็บป่วยที่รู้จักกันดีอีกอย่างหนึ่งคือ “อุปาทานกลุ่ม” (collective hysteria, collective obsessional behavior, mass hysteria หรือ mass psychogenic illness) เรียกแบบไทยๆ ว่า “โรคผีเข้ากลุ่ม” เกิดขึ้นในกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีสาเหตุจากความเชื่อว่าตนเองกำลังเจ็บป่วยอย่างเดียวกันกับคนรอบๆ ข้างในกลุ่ม โดยที่อาการเจ็บป่วยบอกต่อกันปากต่อปาก เช่น คลื่นไส้ ขาไม่มีแรง ปวดศีรษะ ส่วนมากมีอาการป่วยไม่ชัดเจน เกิดมากในชุมชนที่เชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติและเคร่งศาสนาแบบสุดโต่ง ผลตามมาอาจมีการรับประทานยาที่มากเกิดความจำเป็น ไม่กินยาจะอยู่ไม่ได้ ปวดโน่นปวดนี้เหมือนคนรอบค้าง ทั้งที่ๆ ไม่ได้เจ็บปวดอะไร คิดไปว่าตัวเองเจ็บป่วยเหมือนคนอื่นๆ

เมื่อราวปี ค.ศ. 1518 (พ.ศ. 2061) เกิดโรคชอบเต้น (Dancing plague / Dance epidemic Dancing mania) ที่สตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส เริ่มจากมีหญิงคนหนึ่งออกมาเต้นรำโดยไม่พักเป็นระยะเวลาเกือบสัปดาห์ ข่าวแพร่ออกไปทำให้ผู้หญิงในละแวกเดียวกันกับเธอออกมาเต้นรำเช่นกัน ราว 400 คน โดยไม่หยุดพัก จนในที่สุดหลายคนเสียชีวิตเนื่องจากหัวใจเต้นผิดปกติ ร่างกายอ่อนเพลียเพราะไม่ได้กินอาหาร ไม่ได้หลับนอนเป็นเดือนๆ น่าแปลกตรงที่ทำไมผู้ชายรอบข้างพวกเธอไม่เป็น ? โรคชอบเต้นรำนี้มีบันทึกว่าก่อนนี้เคยเกิดขึ้นในเมืองอาเคน ประเทศเยอรมนี เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1374 (พ.ศ. 1917) มีคนออกมาเดินตามถนน กรีดร้องเหมือนคนประสาทหลอน เต้นรำท่าแปลกๆ ดิ้น และบิดตัวไปมาจนหมดแรงไป ซึ่งโรคแปลกประหลาดนี้ได้แพร่กระจายไปถึงประเทศเนเธอร์แลนด์อีกด้วย นักประวัติศาสตร์อธิบายว่าอาจเป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์ในเรื่องพ่อมด แม่มด หมอผี ฯ คิดว่าชาวบ้านที่นี่ถูกสาปจึงออกมาเต้นรำเพื่อแก้อาถรรพ์ นักจิตวิทยาอธิบายว่าอาจเป็นโรคอุปทานกลุ่มที่เชื่อมโยงกับความคลั่งไคล้ศาสนาของคนยุโรปในยุคนั้นก็เป็นไปได้ ส่วนนักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าอาจจะเกิดจากการกินข้าวปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อราชนิดหนึ่งซึ่งทำลายเซลล์สมองทำให้ระบบประสาททำงานผิดปกติ เหตุผลหลังสุดนี้น่าเชื่อถือ แต่เรื่องราวแปลกประหลาดเหล่านี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ยืนยันว่าสาเหตุแท้จริงคืออะไร

เมื่อปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) ที่โรงงานทอผ้าแห่งนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา มีคนงานป่วยเนื่องจากข่าวลือว่าแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่งคล้ายแมลงกินูนในบ้านเรา เรียกเหตุการณ์นี้ว่า “โรคแมลงปีกแข็งเดือนมิถุนายน (June Bug Epidemic) ในสภาพธรรมชาตินั้นแมลงชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายในด้านพาหะนำโรคติดต่อสู่คน เป็นเพียงแมลงที่กัดกินใบพืชในป่าเป็นอาหาร และชอบแสงไฟ จึงเป็นได้ว่าแมลงเข้าไปในโรงงานตามแสงไฟ แต่นักวิทยาศาสตร์ลงความเห็นว่าแมลงดังกล่าวไม่ทำให้เกิดโรค ปีเดียวกันที่ประเทศแทนซาเนีย ในโรงเรียนตั้งอยู่ใกล้ชายแดนประเทศยูกันดา มีนักเรียนหัวเราะนานผิดปกติ เรียกว่า “โรคหัวเราะแทนกานิคา (Tanganyika laughter epidemic)” เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2505 มีนักเรียนหญิงอายุ 12-18 ปี 3 คน เริ่มหัวเราะนานผิดปกติแล้วแพร่ออกไปในกลุ่มเพื่อนนักเรียนอีก 95 คน จากทั้งหมด 195 คน ในกลุ่มนั้นหัวเราะติดต่อกันเป็นเวลาตั้งแต่ 2 – 3 ชั่วโมง จนถึง 16 วัน ก่อนหน้าที่จะเป็นเช่นนี้มีรายงานว่าเด็กๆ กลุ่มนั้นเรียนไม่รู้เรื่อง จึงสั่งปิดโรงเรียนปล่อยให้นักเรียนกลับบ้าน แทนที่การหัวเราะแบบนั้นจะยุติ แต่เรื่องราวของพวกเธอได้ยินไปถึงหูของคนในหมู่บ้านใกล้เคียงที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิง ทำให้มีเด็กหญิงอีกหลายคนออกมาหัวเราะโดยไม่หยุด เรื่องราวนี้นักวิชาการอธิบายว่าจุดเริ่มต้นอาจเกิดจากความคับข้องสับสนด้านจิตใจของนักเรียนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นและเร่งรีบเรียนให้จบการศึกษา แต่แปลกที่ว่าทำไมเป็นเฉพาะในนักเรียนหญิง ? ส่วนกลุ่มครูและนักเรียนชายไม่เป็นไร

โดยสรุปแล้ว “จิต” ร่ายเวทมนตร์ตนเองปลุกเสกหลอกล่อให้เกิดจริตกิริยาอาการเป็น “เกลศ” คือ ความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน อันเป็นสิ่งไม่ดี คือ “มาร” นั่นเอง ทางวิชาการเรียกว่า “ความเจ็บป่วยทางกายที่เนื่องมาจากจิตใจ (Psychsomatic illnesses)” สวัสดีขอลาโอกาสหน้าพบกันใหม่ครับ

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top